เครดิตบูโร หรืออีกชื่อว่า บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ มีหน้าที่หลักๆ คือการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการเงินของเรา จากทุกสถาบันการเงินที่เราทำธุรกรรมทางการเงินด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาอนุมัติธุรกรรมการเงินต่างๆ ที่เรายื่นขอกับทางสถาบันการเงิน โดยข้อมูลที่ทางการเงินของเราที่ เครดิตบูโร รวบรวมไว้นี้จะเรียกว่า เครดิต โดยจะบันทึกไว้ทั้ง ประวัติเครดิตที่ดี และประวัติเครดิตไม่ดี ซึ่งหากเรามี ประวัติเครดิตไม่ดี ก็จะส่งผลให้เรานั้นทำธุรกรรมการเงินต่างๆ กับ ทางสถาบันการเงินได้ยากขึ้นนั่นเอง
และวันนี้ MoneyGuru.co.th ก็มี 3 ประวัติเครดิตไม่ดี ที่เราควรหลีกเลี่ยง มาแนะนำกัน เพื่อที่พวกเราที่ต้องการทำธุรกรรมการเงินกับสถาบันการเงิน ได้ระวังตัวกันไว้ไม่ให้มีประวัติเครดิตไม่ดี จะได้เพิ่มโอกาสในการอนุมัติให้มากขึ้น
3 ประวัติเครดิตไม่ดีที่เราควรหลีกเลี่ยง
1.มีประวัติชำระหนี้ช้า
การชำระหนี้ล่าช้า ถือว่าเป็นพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ดีอย่างหนึ่งเลยทีเดียว เพราะแสดงถึงความไม่รับผิดชอบของตัวเรา และอาจจะมองได้ว่าเรานั้นไม่มีความสามารถที่จะรับผิดชอบภาระหนี้ที่เรามีอยู่ได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าการชำระหนี้ช้านั่นมีแต่ผลเสียต่อตัวเราเอง
วิธีป้องกัน
พยายามสร้างวินัยให้กับตัวเองในการชำระหนี้คืนในระยะเวลาที่กำหนดไว้จะเป็นการดีที่สุดครับ เพื่อที่ตัวเรานั้นจะได้มีประวัติเครดิตการเงินที่ดีนั่นเอง
2.มีประวัติค้างชำระหนี้
การมีประวัติในส่วนนี้ถูกบันทึกอยู่ในเครดิตบูโรจะมาจากการที่เรานั้น มีการค้างชำระหนี้หลายงวด หรือ มีการขาดชำระหนี้บ่อยๆ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ถือว่าเป็นประวัติเครดิตที่ไม่ดี ที่หากเรามีอยู่ในประวัติเครดิตของเราแล้ว การทำธุรกรรมการเงินกับทางธนาคารก็จะผ่านการอนุมัติยาก เพราะข้อมูลจากส่วนนี้จะทำให้ทางสถาบันการเงินนั้น มองได้ว่าเราไม่มีสามารถที่จะรับผิดชอบหนี้สินที่เรามีได้ อันอาจจะส่งผลให้ถ้าอนุมัติแล้วโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสียสูงนั่นเอง
วิธีป้องกัน
เราควรที่จะมีวินัยในการชำระหนี้ที่เรามีอยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงไม่สร้างหนี้จนเกินกว่าที่เราจะสามารถใช้คืนได้จะเป็นการดีที่สุดครับ
แต่หากเรามีประวัติในส่วนนี้ไปแล้ว ข้อมูลเครดิตในส่วนนี้ก็จะอยู่กับเราไปประมาณ 3 ปี แต่ถึงอย่างนั้นเราต้องพยายามจ่ายชำระหนี้ที่เรามีอยู่ให้หมดไปด้วยนะครับ
3.มีภาระหนี้ต่อเดือนมากเกินกว่ารายได้ที่มี
การมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนมากจนเกินไป ก็จะส่งผลให้ทางสถาบันการเงินอนุมัติธุรกรรมการเงินที่เรายื่นขอไปได้ยาก เนื่องจากหากเอาภาระหนี้ที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือนนั้นมาเทียบกับรายได้ของเราแล้ว พบว่าเรามีความเสี่ยงสูงที่เราจะไม่มีเงินพอจ่ายชำระหนี้คืนได้นั่นเองครับ
ทางแก้มีอยู่ 2 ทางก็คือ
เพิ่มรายได้ของเรา เช่น การทำอาชีพเสริมต่างๆ เป็นต้น
ใช้หนี้ที่เรามีอยู่ให้หมดก่อน แล้วจึงค่อยยื่นเรื่องกับสถาบันการเงินอีกครั้ง
หากมีประวัติเครดิตไม่ดี จะแก้ไขอย่างไรดี?
กรณีที่เรามีประวัติข้อมูลเครดิตไม่ดี เช่น การค้างชำระ ผิดนัดชำระ เป็นต้น มีวิธีแก้ไขได้ดังนี้
ชำระหนี้ที่ค้างให้หมด
ให้เราทำการติดต่อกับสถาบันการเงินที่เราเป็นหนี้ เพื่อทำการชำระหนี้ที่เรามีอยู่ แต่หากว่าเรานั้นมีหนี้ที่มากจนเกินไป ก็อาจจะขอเจรจาต่อรองกับทางเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้
เริ่มสร้างประวัติใหม่
เราต้องเริ่มสร้างวินัยการเงินที่ดีให้กับตัวเราเอง เช่น ชำระหนี้ให้ตรงเวลา อย่าผิดนัดชำระหนี้ เพราะอย่าลืมว่าทุกอย่างจะถูกบันทึกในเครดิตบูโรของเรานั่นเอง