June 21, 2017
หากวันหนึ่งคุณมีเหตุต้องใช้เงินก้อนฉุกเฉิน แต่เงินเก็บก็ไม่มี เงินในบัญชีก็ไม่พอ จะขอกู้สินเชื่อก็ไม่ทันเวลา ทางเลือกสุดท้ายก็คือการ กดเงินสด โดยใช้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดที่มีอยู่ในกระเป๋า แม้ว่าดอกเบี้ยจะแพงแสนแพง แต่มันจำเป็นจริง ๆ ก็ต้องยอม ว่าแต่การกดเงินสดโดยใช้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดถึงจะดีกว่า คุ้มกว่า และเสียดอกเบี้ยน้อยกว่า MoneyGuru.co.th หาคำตอบมาฝากคุณผู้อ่านกันแล้วค่ะ
เป็นที่รู้กันอยู่ว่า การรูดซื้อสินค้าและชำระค่าบริการต่าง ๆ คือลักษณะเฉพาะของการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต ซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียมในการรูดใช้จ่ายแต่อย่างใด (ยกเว้นร้านค้าบางร้านที่จะเก็บค่าธรรมเนียมในการรูด) ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตกดเงินสดออกมาจากตู้เอทีเอ็มนั้น จึงเป็นลักษณะการใช้บัตรเครดิตที่ผิดวิธี และส่งผลให้คุณต้องเสียค่าธรรมเนียมในการกดเงิน 3% (+VAT) จากยอดเงินที่กดออกมา และที่สำคัญการคิดดอกเบี้ยของการกดเงินสดจากบัตรเครดิตนั้น คิดคำนวณเป็นรายวันและจะเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่คุณได้รับเงินสดจากตู้เอทีเอ็มเลย ไม่เหมือนกับการรูดใช้จ่าย ที่ยังมีระยะปลอดดอกเบี้ย 45-55 วันนับจากวันสรุปยอด
มาถึงการใช้บัตรกดเงินสดในการกดเงินจากตู้เอทีเอ็มกันบ้าง ซึ่งแน่นอน ชื่อของบัตรก็บ่งบอกลักษณะการใช้ของมันอยู่แล้ว นั่นคือ เป็นสินเชื่อพร้อมใช้สำหรับการกดเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งจะได้เปรียบกว่าการใช้บัตรเครดิตกดเงินสดตรงที่ ไม่มีค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดออกมา แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปและตัดสินใจใช้บัตรกดเงินสดกดเงินออกมาใช้จ่ายเลย เพราะอัตราดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดนั้นสูงกว่าบัตรเครดิตมาก นับได้ว่าบัตรกดเงินสดเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในหมู่มวลสินเชื่อเลยทีเดียว
มาถึงตอนนี้คุณผู้อ่านคงจะลังเล ว่าสรุปจริง ๆ แล้ว จะใช้บัตรใบไหนในการกดเงินสดออกมาจึงจะคุ้มกว่ากันล่ะ? ถ้าใช้บัตรเครดิตกดเงินสดออกมาก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มมาอีก 3% ส่วนการใช้บัตรกดเงินสดถึงจะไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่ามาก เราจึงมาเปรียบเทียบให้คุณผู้อ่านเห็นได้ชัด ๆ กันไปเลยว่า ในยอดเงินที่กดออกมาเท่า ๆ กัน อย่างไหนคุณจะต้องชำระเงินคืนมากกว่ากัน ตัวอย่างเช่น คุณกดเงินสดออกมา 20,000 บาท ในวันที่ 1 มิถุนายน โดยรอเงินเดือนออกวันที่ 25 มิถุนายน จึงจะสามารถชำระเงินคืนได้
บัตรเครดิต | บัตรกดเงินสด | |
จำนวนเงินที่กด | 20,000 | 20,000 |
ค่าธรรมเนียม | 3% (+VAT 7%) (20,000 x 3% = 600) x 7% = 642 บาท | ไม่มี |
อัตราดอกเบี้ย | 20% ต่อปี คำนวณเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่กดเงิน | 28% ต่อปี คำนวณเป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่กดเงิน |
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจริง หากชำระคืนวันที่ 25 มิ.ย. | 20,000 x 20% x 25 / 365 = 274 บาท | 20,000 x 28% x 25 / 365 = 383 บาท |
จำนวนเงินทีต้องชำระคืนวันที่ 25 มิ.ย. | 20,000 + 642 + 274 = 20,916 บาท | 20,000 + 383 = |
จำนวนเงินที่ต้องชำระคืนวันที่ 30 มิ.ย. (ชำระคืนหลังจากที่กำหนด) | 20,000 + 642 + 328 = 20,970 บาท | 20,000 + 460 = |
จำนวนเงินที่ต้องชำระคืนวันที่ 15 มิ.ย. (ชำระคืนก่อนกำหนด) | 20,000 + 642 + 164 = 20,806 บาท | 20,000 + 230 = |
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า แม้บัตรกดเงินสดจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า แต่ไม่มีค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดอีก 3% (+VAT) ดังเช่นบัตรเครดิต ทำให้การกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มโดยใช้บัตรกดเงินสดนั้น คุ้มค่ากว่าและชำระเงินคืนน้อยกว่าบัตรเครดิตนั่นเอง และหากท่านใดอยากจะติดตามบทความและข่าวสารเกี่ยวกับรถยนต์ การเงิน สินเชื่อ บัตรเครดิต และประกันรถยนต์ ก็สามารถกด blog เพื่อรับสาระความรู้แบบนี้จาก MoneyGuru.co.th ได้เลย … และนอกจากสาระความรู้แล้ว คุณยังไม่พลาดสิทธิพิเศษ ข้อเสนอดีๆ จาก ประกันรถยนต์ บัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล อีกด้วย