เมื่อไม่นานมานี้ แบงก์ชาติเผยแนวปฏิบัติสำคัญเรื่องการชำระหนี้เพื่อลดหนี้เสีย และลดภาระหนี้ของประชาชน โดยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการคิด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และการตัดชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ และสร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน
โดยประกาศฉบับนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มใช้ 1 กรกฎาคม 2564 ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทย
เกณฑ์การคิด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในระบบการเงินไทย
จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ทำให้ผู้มีหนี้จำนวนมากได้รับผลกระทบ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดของทุกสถาบันการเงินมีเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน และไม่ก่อภาระให้แก่ลูกหนี้โดยไม่เป็นธรรม
รวมทั้งลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้กับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อหมุนเวียน ยกเว้นผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์สำหรับบุคคลธรรมดา โดยกำหนดแนวปฏิบัติที่สำคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้
1. การเปลี่ยนฐานคำนวณดอกเบี้ย จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นคงค้างทั้งหมด มาเป็น การคิดดอกเบี้นจากเงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระเท่านั้น
วิธีการคำนวณคือ: ดอกเบี้ยปกติ = จำนวนเงินต้นที่เหลือ x อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่ระบุในสัญญา x จำนวนวันที่ค้างชำระ
กล่าวคือ หากมีการผิดนัดชำระเกิดขึ้น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะคิดบนฐานของ “เงินต้นที่ผิดนัดจริง” เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น
2. การเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย มาคิดเพิ่มจากดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บตามจริงในสัญญา ไม่เกินที่ธนาคารกำหนด ซึ่งปัจจุบันธนาคารคิดเพิ่ม 3% ต่อปี เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% – 22% จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ (affordability risk) ได้
วิธีการคำนวณคือ: ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ที่ต้องจ่ายเพิ่ม) = เงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระ x อัตราส่วนเพิ่ม 1% ถึง 3% x จำนวนวันที่ค้างชำระ
ดังนั้น การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ได้จริง เพราะลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น
3. การเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ “ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน จากที่แต่เดิม เงินที่ลูกหนี้จ่ายเข้ามา จะนำไปตัดค่าธรรมเนียมและตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะนำไปตัดเงินต้น ซึ่งเรียกวิธีการแบบนี้ว่า “การตัดชำระหนี้แบบแนวตั้ง”
ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้มีค่างวดที่ต้องจ่ายเดือนละ 10,300 บาท แบ่งเป็นค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ลูกหนี้ค้างชำระ 3 เดือน รวมเป็นเงิน 30,900 บาท เดือนที่ 4 เริ่มพอที่จะหาเงินได้ และกลับมาจ่าย 10,300 บาท
วิธีการตัดชำระหนี้แบบเดิมในแนวตั้ง จะไปหักค่าธรรมเนียมทั้งหมด 900 บาทก่อน ส่วนที่เหลืออีก 9,400 บาท จะนำไปตัดดอกเบี้ยค้าง ซึ่งสามารถตัดชำระได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะดอกเบี้ยค้าง 3 งวด รวมเป็น 12,000 บาท ทำให้ในงวดที่ 4 แม้ลูกหนี้จะชำระหนี้เข้ามา 10,300 บาท เงินที่จ่ายเข้ามา จะไม่สามารถตัดถึงเงินต้นได้เลย ทีนี้ตามประกาศฉบับใหม่ จะเป็นการกำหนดให้ “ตัดชำระหนี้แบบแนวนอน” คือ ให้นำเงินที่ชำระเข้ามา ไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นในงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
จากตัวอย่างที่ได้อธิบายไป เมื่อลูกหนี้ชำระเงิน 10,300 บาท ก็จะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดที่ 1 จนครบก่อน และทำให้มียอดค้างชำระเหลือเพียง 2 งวด ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น ช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น
คนไทยได้อะไรจากประกาศฉบับนี้?
ประกาศฉบับนี้จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลงใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวม และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระหนี้ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ เนื่องจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะไม่สูงเกินสมควรจนทำให้จ่ายหนี้ไม่ไหว
ประกาศฉบับนี้จะช่วยให้การผิดนัดชำระหนี้น้อยลงจริงหรือไม่?
การที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง หรือลูกหนี้ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะจ่ายค่างวดได้ตามที่คาดไว้ ด้วยหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ลดลง กรณีเช่นนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระแบบใหม่ที่เรียกเก็บยอดปรับไม่สูงเกินไป ไม่เพียงแต่จะเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว ยังอาจช่วยให้การผิดนัดชำระหนี้ในภาพรวมลดลง เพราะภาระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เรียกเก็บ เป็นยอดที่น้อยลงจากเดิมมาก เมื่อเทียบกับอัตราเดิมในอดีต
ดังนั้น หากลูกหนี้มีการผิดชำระหนี้ ค่างวดและภาระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่ม ก็จะไม่เป็นภาระสำหรับลูกหนี้มากเกินไป ทำให้ลูกหนี้ยังคงมีแรงจูงใจในการจ่ายชำระหนี้คืน เพราะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้
สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด 19 หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213
สำหรับท่านที่ สนใจสมัครบัตรเครดิตไว้ใช้ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน สามารถเปรียบเทียบความคุ้มค่าของบัตรเครดิตได้ ที่นี่
ไม่พลาดทุกเรื่องราวข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ LINE @MoneyGuruThailand
ที่มา: บทความดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ คิดอย่างไรให้เป็นธรรม โดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย