คนทำงานมานานหลายปี คงไม่กังวลใจเท่าไรว่าจะคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร แต่สำหรับน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานไม่นาน หลายคนคงอยากรู้ว่าจะ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรดี และมีอะไรบ้างที่สามารถนำมาหักภาษีได้
บทความนี้ เลยจะมาให้ความรู้และทบทวนความจำกันเสียหน่อยว่าการ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่คนทำงานต้องรู้ มีอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง …
คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรื่องที่คนทำงานต้องรู้
ทุกๆ ปี คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนดจะต้องยื่นแสดงรายได้และจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกรมสรรพากร โดยในปีภาษี 2564 (ที่จะยื่นแบบในช่วงต้นปี 2565) จะใช้โครงสร้างภาษีเหมือนที่ปรับใหม่ในปี 2560 ซึ่งมีการเพิ่มค่าลดหย่อนใหม่หลายประเภท คือ
- ปรับอัตราภาษีในช่วงอัตราร้อยละ 30 และอัตราร้อยละ 35
- เพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เพิ่มค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท รวมทั้งค่าลดหย่อนบุตร ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคน และไม่จำกัดคน
- กรณีที่สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท
- กองมรดก ให้หักลดหย่อนเพิ่มเป็น 60,000 บาท
บุคคลที่ต้องยื่นภาษี 2564
ในการยื่นภาษีในแต่ละปีนั้น หลายคนมักจะมีความเข้าใจว่า ถ้ามีเงินได้มากกว่าเดือนละ 25,833 บาท หรือมีเงินได้ต่อปีสูงกว่า 300,000 บาท จำเป็นจะต้องยื่นเสียภาษี ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเสมอไป เพราะกรมสรรพากรได้กำหนดให้คนที่มีเงินได้แม้มีเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายได้ ในกรณีต่อไปนี้
- คนโสด
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
- สมรสแล้ว
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท
- กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร?
แบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีด้วยกัน 2 แบบ คือ
- ภ.ง.ด.90 คือ ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา เงินปันผล หรืออื่น ๆ
- ภ.ง.ด.91 คือ ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีรายได้ทางอื่น
สำหรับคนที่ต้องการยื่นภาษี สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ตามลิงก์ที่ทางสรรพากรให้ไว้ หรือ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/tax
ยื่นภาษีได้ถึงวันที่เท่าไร
ทั้งนี้ การยื่นเสียภาษีในปี 2564 ที่จะยื่นผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร จะต้องยื่นภายในวันที่ 1 ม.ค.65 – 8 เม.ย. 65 ส่วนผู้ที่จะยื่นเอกสารเสียภาษีแบบกระดาษจะสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.65 เท่านั้น
รวมเอกสารประกอบการยื่นภาษี
ก่อนยื่นภาษี อย่าลืมตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ให้ครบก่อน เพราะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น หากต้องมีการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งเอกสารประกอบการยื่นภาษี มีหลายรูปแบบ อาทิ
- หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี (50 ทวิ) ซึ่งได้รับจากนายจ้าง โดยหนังสือรับรองจะระบุผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนเงินได้ทั้งปี (รวมเงินเดือน โบนัสและเงินพิเศษต่าง ๆ) ภาษีที่หักและนำส่งไว้ รวมถึงเงินที่จ่ายเข้า กบข./กสจ./กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- ทะเบียนสมรส กรณีกรมสรรพากรเรียกตรวจ หากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน
- เอกสารรับรองบุตร หรือสูติบัตรของบุตร กรณีสรรพากรเรียกตรวจ
- หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบิดา-มารดาของตัวเองได้คนละ 30,000 บาท รวมทั้งบิดา-มารดาของคู่สมรส อีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีเงินได้เป็นผู้เลี้ยงดูบิดา-มารดา ทั้งนี้บิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
- เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา-มารดา ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท
- เอกสารชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง อาทิ
- เบี้ยประกันชีวิต ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
- หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- คนพิการ จะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ และระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยคนพิการต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 60,000 บาท
- คนทุพพลภาพ จะต้องเป็นผู้ทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนต่าง ๆ ที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป หรือใบเสร็จรับเงินที่แสดงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากการท่องเที่ยว หรือค่าซื้อสินค้า ในโครงการช้อปช่วยชาติ
- ใบเสร็จรับเงินบริจาค เพื่อสาธารณกุศลทั่วไป หรือช่วยเหลือน้ำท่วม สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ แต่หากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษา การช่วยเหลือสังคม โรงพยาบาล และเงินบริจาคให้กองทุนยุติธรรม สามารถหักลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค
- ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร นำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 60,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับค่าใช้จ่ายที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
- เอกสารเครดิตภาษีเงินปันผล สำหรับคนที่ลงทุนในหุ้น แนะนำให้สมัครสมาชิกที่เว็บไซต์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วดาวน์โหลดเอกสารไปใช้ยื่นสรรพากรโดยที่เราไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย กองทุนรวมต่าง ๆ กรณีที่เราลงทุนในกองทุนรวมที่มีการจ่ายปันผล เงินปันผลที่ได้รับนั้นจะถูกหักภาษี 10%
- หนังสือหรือเอกสารรับรองเงินได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน
- กรณีเป็นผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นเงินได้ จำนวนเงิน 190,000 บาท
- กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ในปีภาษี ได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
หลักคำนวณ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564
การเสียภาษี จะต้องเสียมาก หรือน้อยแค่ไหนนั้น ต้องนำมาหักค่าลดหย่อนด้วย โดยมีวิธีคำนวณภาษีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ
หากนาย A มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้
หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท จะเหลือรายได้สุทธิ 500,000 บาท
ขั้นตอนที่ 2 นำรายได้ที่เหลือมาหักค่าลดหย่อน จากนั้น ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 500,000 บาท
เช่น หากปีนี้ นาย A ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร จ่ายประกันสังคมไป 9,000 บาท, มีบิดาอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องเลี้ยงดู 1 คน, ซื้อ LTF ไป 50,000 บาท ก็สามารถนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 500,000 บาท ดังนี้
- หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
- หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
- หักค่าซื้อ LTF ไป 50,000 บาท
รวมหักไปทั้งหมด 209,000 บาท จนเหลือรายได้สุทธิ 291,000 บาท
ขั้นตอนที่ 3 นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี ปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษีในปี 2564 เป็นดังนี้
อัตราภาษีแบบขั้นบันได ตามรายได้ที่ได้รับ
- 0 – 150,000 บาท ยกเว้นอัตราภาษี
- 150,001 – 300,000 บาท อัตราภาษี 5% (ภาษีที่ต้องเสียสูงสุดในขั้นนี้คือ 7,500 บาท)
- 300,001 – 500,000 บาท อัตราภาษี 10% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 20,000 บาท)
- 500,001 – 750,000 บาท อัตราภาษี 15% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 37,500 บาท)
- 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 50,000 บาท)
- 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 250,000 บาท)
- 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 600,000 บาท)
- 5,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
วิธีคำนวณ: นาย ก. มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 290,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ :
- (291,000 – 150,000) = 141,000 บาท ที่อัตรา 5%
- คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย 7,050 บาท
จริง ๆ แล้วการ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แถมปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชั่นมากมายที่ทำขึ้นเพื่อช่วยคำนวณภาษี ดังนั้น ขอเพียงรู้หลักในการคำนวนและสิทธิ์ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ก็สามารถยื่นภาษีทางออนไลน์ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
อ่านเพิ่มเติม : ยื่นภาษี ปี 2564 สิทธิลดหย่อนภาษี มีอะไรบ้าง
เนื่องจากในทุกวันนี้ การใช้รถใช้ถนนมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากผู้ใช้รถทุกคนต้องไม่ประมาทและควรระมัดระวังในการขับขี่แล้ว การทำประกันรถยนต์นั้นก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้ท่านเพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ดังนั้นสามารถเข้ามาเปรียบเทียบประกันรถยนต์ได้ทาง www.moneyguru.co.th ต้องการที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายจากการจ่ายเบี้ยประกันด้วยการ ลดราคาเบี้ย 5% พร้อมรับบัตรเติมน้ำมัน 500 บาท รับมือพิษเศรษฐกิจในเวลานี้
ข้อมูลอ้างอิง: กรมสรรพากร
บทความแนะนำ