
ประกันภัยรถยนต์ ถือเป็นสิ่งที่ไกลตัวสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้รถส่วนตัว แต่สำหรับผู้ที่มีรถเป็นของตนเอง ใช้ขับขี่อยู่เป็นประจำ ย่อมต้องเจอกับปัญหาโลกแตก คือการเลือกว่าเราควรจะทำประกันภัยรถยนต์แบบไหนดี แล้วก็มีคำถามตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทุนประกัน ค่าเสียหายส่วนแรก ประเภทประกันรถยนต์ที่เหมาะสม ระบุผู้ขับขี่ ฯลฯ
วันนี้ MoneyGuru จะมาตีแผ่ 15 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ คำตอบต่อไปนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาข้อเสนอประกันภัยรถยนต์ หรือผู้ที่กำลังคิดจะเปลี่ยนบริษัทประกันภัยรถยนต์ และผู้ที่มีประกันภัยรถยนต์อยู่แล้ว เพื่อที่เราจะได้มีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของเรานั่นเองครับ
1. ประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย มีกี่ประเภท
หากจะแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ จะแบ่งอกได้เป็น ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ ประกันรถยนต์ พ.ร.บ. ซึ่งก็คือ สมุดเล่มเขียว พ.ร.บ. ที่รถยนต์ทุกคันต้องมีอยู่แล้ว กับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้โดยจะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
ประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1
คือประกันภัยรถยนต์ที่มีความครอบคลุมมากที่สุด ครอบคลุมทั้งยานพาหนะคันเอาประกัน และรถคันคู่กรณี ความเสียหายต่อชีวิต การบาดเจ็บ ของทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกัน และในรถยนต์คันคู่กรณี และยังมีความคุ้มครองกรณีรถยนต์เสียหายจากไฟไหม้ น้ำท่วม และการโดนโจรกรรมอีกด้วย
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2
มีความคุ้มครองครอบคลุมรองลงมา โดยจะยังให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันเอาประกัน ผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกัน และรถยนต์คันคู่กรณี และผู้โดยสารในรถคันคู่กรณี ทั้งค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยความเสียหายของรถยนต์ และทรัพย์สินโดยจะต้องมีคู่กรณี และให้ความคุ้มครองกรณีรถยนต์ถูกโจรกรรม และไฟไหม้ แต่ไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม หรืออุทกภัย
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+
คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกัน ทรัพย์สินในรถยนต์คันเอาประกัน และค่ารักษาพยาบาล ค่ายาของผู้โดยสารรถยนต์คันเอาประกัน กรณีมีคู่กรณี พร้อมคุ้มครองกรณีโจรกรรม และไฟไหม้ด้วย
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3+
คุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันคู่กรณี ทรัพย์สิน และผู้ขับขี่ ผู้โดยสารในรถยนต์คันคู่กรณี ส่วนคุ้มครองเพิ่มคือให้ความคุ้มครองรถยนต์คันเอาประกันในกรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีคู่กรณี แต่จะไม่คุ้มครองความเสียหายของรถยนต์คันเอาประกันหากไม่มีคู่กรณี ไม่มีความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม ไฟไหม้ หรือโจรกรรม
ประกันภัยรถยนต์ชั้น 3
ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันคู่กรณี ผู้โดยสารในรถยนต์คันคู่กรณี และผู้โดยสารในรถคันคู่กรณี ทั้งค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยความเสียหายของรถยนต์ และค่าชดเชยความเสียหายต่อทรัพย์สินในรถยนต์คันคู่กรณีเท่นั้น ไม่มีการชดเชยค่าเสียหายสำหรับรถยนต์คันเอาประกัน และไม่คุ้มครองกรณีรถยนต์ถูกโจรกรรม ไฟไหม้ หรืออุทกภัยแต่อย่างใด
2. คำศัพท์เบื้องต้นที่ควรรู้เกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์
เบี้ยประกันภัย (Premium) คือ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายให้กับบริษัทประกัน สาเหตุคือ การทำประกันภัยรถยนต์เป็นสัญญาต่างตอบแทน หากไม่มีการชำระเบี้ยประกันตามที่ระบุ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น บริษัทมีสิทธิ์ไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนได้
ทุนเอาประกันภัย (Sum Insured) คือ จำนวนเงินสูงสุดที่ผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นตามสัญญา
ค่าสินไหมทดแทน (Claim Amount) คือ ความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้ ผู้รับประกันภัยชดใช้ โดยความเสียหายดังกล่าว เป็นผลมาจากภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และมีจำนวนตามที่เสียหายจริง
ค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) คือ ค่าใช้จ่ายที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ เองในความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง เช่นในการ ประกันภัยรถยนต์มีการกำหนดความเสียหายส่วนแรกไว้ที่ 2,000 บาท/ครั้ง ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นในแต่ละครั้ง หากความเสียหาย เท่ากับ 2,000 บาท หรือน้อยกว่า คุณจะไม่ได้รับการชดเชยจากทางบริษัทประกันภัย หากแต่คุณจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง หากความเสียหายของคุณเท่ากับ 3,000 บาทคุณจะจ่ายเพียงแค่ 2,000 บาทเท่านั้น ส่วนบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนที่เพิ่มขึ้น 1,000 บาทเอง
3. ทำไมกรมธรรม์ถึงต้องมีค่าเสียหายส่วนแรก
จากข้อกำหนดของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรื่องรูปแบบและข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย หากบริษัทประกันจะขายประกันต่อประชาชนทั่วไป ต้องเป็นแบบและข้อความที่ทาง คปภ. กำหนด
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2+ 3+ ในเริ่มแรก ระบุตัวเลขความเสียหายต่อตัวรถไว้ 2,000 บาท และมีการเก็บจริง ต่อมาเมื่อมีการแข่งขันกันทำตลาด ทำให้มีการอนุโลมไม่เก็บเงินส่วนนี้ในตอนเคลมจริง แต่ไม่ได้ขออนุญาตรูปแบบกรมธรรม์ใหม่ให้ถูกต้องแบบไม่มีค่ารับผิด จึงเรียกเป็นค่าเสียหายส่วนแรกที่ทางผู้เอาประกันสามารถเลือกซื้อ หรือไม่ซื้อในส่วนนี้ก็ได้
โดยรูปแบบกรมธรม์นี้จะเป็นการทำข้อตกลงกันระหว่างผู้เอาประกันภัย กับผู้ให้การประกันภัย ว่าจะไม่เก็บค่ารับผิดส่วนแรกนี้ แต่ก็มีบางบริษัทมีการขอรูปแบบกรมธรรม์ใหม่ที่ไม่เขียนค่ารับผิดส่วนแรกไว้
หากคุณอยากทราบว่า ประกันภัยประเภท 2+ 3+ ที่ซื้อไว้ มีค่าเสียหายส่วนแรกหรือไม่ ให้ตรวจสอบกับบริษัทประกันว่า เลขกรมธรรม์ที่ได้รับ เมื่อเคลมจะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรกหรือไม่ เท่าไหร่ หรือจะตรวจสอบจากเบี้ยประกันในตารางที่ได้รับว่าเป็นเบี้ยประกันแบบเสียหรือไม่ก็ได้ครับ
4. ตัวแทน กับ นายหน้าต่างกันอย่างไร
เราอาจได้ยินสองคำนี้ใช้ด้วยกันบ่อยๆ จนหลายๆ คนคิดว่ามีความหมายเดียวกันและเป็นคนคนเดียวกัน แต่สำหรับธุรกิจประกันภัย สองคำนี้มีความหมายต่างกันครับ
ตัวแทน (Agent) หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนบริษัทที่ตนสังกัดอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือพนักงานบริษัทประกันแห่งนั้นนั่นแหละครับ เวลาเขาเสนอขายประกัน เขาจะขายได้เฉพาะผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่สังกัดอยู่เท่านั้น จะไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่นๆ ได้ หากคุณซื้อประกันภัยรถยนต์จากบริษัทหนึ่งอยู่แล้ว และไม่ต้องการเปลี่ยนบริษัทก็สามารถติดต่อตัวแทนให้ทำเรื่องให้ได้เลยครับ
นายหน้า (Broker) หมายถึง ผู้ทำหน้าที่จัดหาช่องทางการทำประกันให้กับผู้เอาประกันภัย โดยนายหน้าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งนายหน้ามีอิสระในการแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกันรถยนต์ใดก็ได้ ไม่ได้อยู่ใต้การควบคุมของบริษัทใดบริษัทหนึ่งครับ ดังนั้นหากคุณต้องการเปรียบเทียบตัวเลือกจากหลายๆ บริษัทก็สามารถติดต่อนายหน้า หรือโบรกเกอร์ประกันภัยได้นะครับ
5. ตัวเลขความคุ้มครองผู้โดยสารในรถยนต์ เช่น 7 x 100,000 คืออะไร
ตัวเลขแรก คือ จำนวนรวมผู้โดยสารในรถยนต์ ได้แก่ ผู้ขับขี่ และ ผู้โดยสารทั้งหมดที่ประกันจะให้ความคุ้มครอง ตัวเลขหลังเครื่องหมายคูณ (x) คือ วงเงินคุ้มครองต่อคน
ดังนั้น 7 x 100,000 จึงหมายความว่า กรมธรรม์นี้คุ้มครอง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรวม 7 คน โดยมีวงเงินคุ้มครองคนละ 100,000 บาทนั่นเองครับ
6. ทำประกันชั้น 1 แบบระบุผู้ขับขี่ แต่ตอนเกิดเหตุ ผู้ขับไม่ใช่คนที่ระบุไว้ จะเคลมได้ไหม
หากคุณทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบระบุผู้ขับขี่ไว้ตั้งแต่ต้น แต่ตอนเกิดอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่เป็นคนอื่นที่ไม่ได้มีชื่อระบุในกรมธรรม์ และเป็นฝ่ายผิดตามกฎหมาย คุณสามารถเคลมประกันภัยชั้น 1 ที่ทำไว้ได้ แต่จะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรกตามที่ได้กำหนดเอาไว้ในกรมธรรม์ สำหรับความเสียหายของทรัพย์สินของบุคคลภายนอก หรือคู่กรณี เช่น ค่าซ่อมรถคันคู่กรณี ค่ารักษาพยาบาลผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารในรถคันคู่กรณี ค่าเสีหายต่อทรัพย์สินอื่นๆ เป็นต้น และเงินอีกส่วนสำหรับความเสียหายของรถคันเอาประกันภัย กรณีต้องเอารถคันเอาประกันภัยเข้าซ่อม
เมื่อรวมกันแล้ว คุณอาจต้องเสียเงินมากกว่าที่คิดเอาไว้ ซึ่งอาจจะมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้จากส่วนลดเนื่องจากการระบุผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจว่าใครจะเป็นผ้ขับรถที่แน่นอนของรถคันเอาประกัน ก็ไม่ควรทำประกันภัยรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่นะครับ
7. รถอายุเกิน 7 ปี จะสามารถทำประกันภัยรถยนต์ประเภทใดได้บ้าง
การนับอายุรถ ให้นับ 1 ตั้งแต่ปีแรกที่ออกรถจากศูนย์บริการ เช่น ออกรถปี 2550 ให้นับดังนี้
ปี 2550 นับอายุได้ 1 ปี ปี 2551 นับอายุได้ 2 ปี ไปเรื่อยๆ และใน ปี 2554 นับอายุได้ 5 ปี เป็นต้น
โดยทั่วไป บริษัทประกันภัยจะรับประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 สำหรับรถอายุไม่เกิน 7 ปีเท่านั้น แต่ก็มีบางบริษัทที่รับถึง 9 ปี หรือกรณีมีการต่อประกันภัยรถยนต์ต่อเนื่องกับบริษัทเดิม ทางบริษัทประกันภัยอาจพิจารณาอนุโลมรับประกันให้รถยนต์ที่มีอายุเกิน 10 ปีได้ ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากประวัติการเคลมด้วย
หากอายุรถยนต์ของคุณเกินกว่าที่บริษัทประกันภัยกำหนด และไม่สามารถทำประกันชั้น 1 ได้อีกต่อไปแล้ว คุณสามารถเลือกทำประกันรถยนต์ประเภทอื่นๆ ได้ โดยพิจารณาจากความคุ้มครองที่ต้องการ ทางเราแนะนำเป็นประกันรถยนต์ประเภท 2+ และ 3+ ตามลำดับ
โดยทั้งสองประเภทนี้ จะยังให้ความคุ้มครองตัวรถคันเอาประกันในกรณีชนกับยานพาหนะทางบก แต่ประเภท 2+ จะคุ้มครองกรณีสูญหายและไฟไหม้เพิ่มขึ้นมาด้วย โดยเราสามารถเลือกเพิ่มความคุ้มครองส่วนนี้ได้นั่งเองครับ
8. ประกันชั้น 1 อยากได้ทุนประกันสูงๆ แต่ทำไมบริษัทประกันไม่ให้ทำ
ทุนประกันที่เหมาะสมคือประมาณ 80% ของราคารถ ณ ปัจจุบัน หรืออาจยืดหยุ่นได้ถึง 90% ของราคารถ แต่บริษัทประกันมักจะไม่รับทำทุนประกันเต็มจำนวน 100% เพราะสาเหตุดังต่อไปนี้
เผื่อค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์ระหว่างปี
ต้องการให้ผู้เอาประกันมีความรับผิดชอบกับรถยนต์ของตนเองบ้างเป็นบางส่วน เพื่อจะได้ช่วยดูแลรักษารถตามสมควร
เพื่อไม่ให้เป็นช่องในการหาผลประโยชน์จากการทำประกันโดยมิชอบ
วิธีคิดง่ายๆ คือหากบริษัทประกันให้ทุนประกันสูง หรือทุนประกันถึง 100% ก็อาจจะทำให้ผู้ขับขี่ ขับขี่โดยประมาทมากขึ้นเนื่องจากมีประกันภัยแล้ว คิดว่าไม่ว่ารถยนต์จะพังยับขนาดไหน ก็ยังมีความคุ้มครอง 100% แบบนี้หากชนเล็ก ชนน้อยทางบริษัทประกันภัยก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ทำให้รวมๆ แล้วอาจจะเป็นเงินค่าชดเชยจำนวนมาก ทำให้ผู้เอาประกันที่หวังไม่ดีอาจจะหาประโยชน์จากข้อกำหนดส่วนนี้ได้ ดังนั้นการให้ทุนประกันไม่ถึง 100% เหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ให้ผู้เอาประกันใช้รถยนต์อย่างระมันระวัง และรับผิดชอบดูแลรักษารถยนต์ของตัวเองด้วยเช่นกัน
9. การเคลมแบ่งเป็นกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร
การเคลมประกันภัยรถยนต์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเคลมสด และการเคลมแห้ง
เคลมสด คือ เคลมที่ต้องมีพนักงาน หรือตัวแทนบริษัทประกันลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบ ณ ที่เกิดเหตุ ซึ่งก็คือเมื่อเกิดเหตุมีคู่กรณี หรือมีผู้บาดเจ็บ หรือรถประกันหรือรถคู่กรณีเสียหายมาก
ผู้ขับขี่รถประกันหรือรถคู่กรณีจะได้รับเอกสาร เป็นใบหลักฐานในการติดต่อเคลมค่าเสียหายจากพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุ ซึ่งสามารถนำไปติดต่ออู่ในเครือของบริษัทประกันภัยเพื่อดำเนินการซ่อมแซมรถยนต์ได้ทันที
เคลมแห้ง คือ การเคลมที่พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุไม่จำเป็นจะต้องออกไปตรวจสอบ ณ ที่เกิดเหตุ ได้แก่ กรณีที่รถยนต์คันเอาประกันเสียหายเล็กน้อย หรือกกรณีเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี การเคลมประกันรถยนต์ประเภทนี้ ผู้ขับรถประกันสามารถนำรถเข้าไปติดต่อซ่อมที่อู่ในเครือของบริษัทได้ด้วยตนเองตลอดเวลา แต่ต้องก่อนกรมธรรม์หมดอายุ
10. รถเสียหาย รอเคลม รอซ่อม สามารถทำประกันชั้น 1 ได้หรือไม่
สำหรับประกันชั้น 1 รถยนต์ที่จะทำควรอยู่ในสภาพที่ซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนทำประกัน ถ้ารถมีความเสียหายอยู่แล้ว แต่เป็นความเสียหายเล็กน้อย เช่น รอยข่วนสองสามรอย บริษัทประกันอาจรับทำประกันให้ได้ โดยจะมีการทำบันทึกความเสียหายที่พบไว้ในระบบ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวจะไม่สามารถนำมาเคลมได้ เพราะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนทำประกันรถยนต์ เมื่อผู้เอาประกันนำรถเข้าซ่อม สามารถแจ้งให้บริษัทประกันไปถ่ายรูปรถยนต์ใหม่ เพื่อทำการยืนยัน และลบบันทึกความเสียหายที่ระบุเอาไว้ได้ แต่ถ้ารถมีความเสียหายมาก บริษัทประกันก็อาจจจะปฏิเสธการรับประกัน
11. ซ่อมห้าง กับ ซ่อมอู่ ต่างกันอย่างไร
ซ่อมห้าง คือ การที่รถยนต์เกิดอุบัติเหตุต้องซ่อม เจ้าของรถยนต์นำรถยนต์ไปซ่อมแซมที่ศูนย์บริการของรถยี่ห้อนั้นๆ หรือ โดยอู่ที่ได้มาตรฐานคุณภาพเทียบเท่า ปกติแล้วประกันซ่อมห้างมีให้เลือกสำหรับรถใหม่อายุ 1-4 ปี อะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมเป็นอะไหล่แท้จากศูนย์บริการเท่านั้น แต่ข้อเสียของการซ่อมห้างคือ อาจจะต้องรอคิวซ่อมรถยนต์นานหน่อยครับ
ซ่อมอู่ คือ การเข้ารับการซ่อมแซมที่อู่ทั่วๆ ไปที่มีข้อตกลงกับบริษัทประกันเอาไว้แล้ว ในกรณีที่เป็นรถยนต์ใหม่ที่มีอายุ 1-3 ปี บริษัทประกันภัยจะใช้อะไหล่ของแท้จากศูนย์ในการจัดซ่อม หากเป็นรถที่อายุมากแล้ว อะไหล่ที่ใช้อาจเป็นอะไหล่มือสอง หรืออะไหล่ที่เทียบเท่าของแท้นั่นเองครับ
12. รถเสียหาย ไม่มีคู่กรณี คู่กรณีหลบหนี ไม่มีรายละเอียด จะต้องดำเนินการอย่างไร
หากเหตุการณ์อย่างนี้ ผู้เอาประกันต้องรีบทำการแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อเก็บบันทึกประจำวัน มีเอกสารให้ตรวจสอบ ติดตามและดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยได้ แต่หากยังไม่สามารถระบุได้ ทางผู้เอาประกันก็ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก และค่าซ่อมแซม (ถ้ามี) ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
13. มีอะไหล่กี่ประเภท จะเปลี่ยนอะไหล่ต้องทำยังไงบ้าง
การเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ดังกล่าวต้องมีความเสียหายมากกว่า 50% และมีการพิจารณาแล้วว่า อะไหล่ชิ้นเดิมเป็นอะไหล่ประเภทไหน อยู่ในสภาพใด หากเห็นเหมาะสมคุณก็จะได้รับการชดใช้ให้จากบริษัทประกันภัย
สำหรับรถยนต์ที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี คุณจะได้อะไหล่ของแท้ชิ้นใหม่ แต่ถ้าเกิดเหตุหลายครั้งภายใน 2 ปีนั้น บริษัทประกันภัยอาจจะทำการพิจารณาเป็นรายการไป
อย่างไรก็ตาม กรณีรถยนต์ได้รับความเสียหายมาก และเป็นการตกลงราคาเหมาซ่อมทั้งค่าแรง ค่าอะไหล่กับทางอู่ผู้รับซ่อม การพิจารณาเรื่องชิ้นส่วนอะไหล่จะทำการพิจารณาตามความเหมาะสม
หากเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของการใช้รถยนต์ จะต้องเป็นการเปลี่ยนอะไหล่แท้เท่านั้น แต่ก็ต้องพิจารณา จากสภาพรถยนต์ และอายุประกอบด้วย
14. กรมธรรม์ประเภท 1 สามารถทำสีรอบคันได้หรือไม่
กรมธรรม์ประกันรถยนต์ จะให้ความคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น ดังนั้น ถ้าลูกค้าแจ้งซ่อมทำสีรอบคัน จะต้องมีการตรวจสอบความเสียหายเป็นหลักว่าเกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ เชื่อถือได้หรือไป
เพราะไม่มีการคุ้มครองการเสื่อมสภาพของรถ แต่ถ้าจะประนีประนอม จะต้องทำการตรวจสอบว่า ได้ทำประกันมากี่ปี มีการเคลมประกันมาแล้วกี่ครั้ง และจะต้องทำการตรวจสอบบาดแผลที่รถยนต์ว่าเกิดเหตุขึ้นจริงหรือแค่ต้องการปรับปรุงสีใหม่ด้วยตนเอง
ถ้าเป็นการทำประกันปีแรกแล้วแจ้งซ่อม จะมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายร่วมอย่างน้อย 50% ของค่าซ่อมทั้งหมด แต่ถ้าเป็นการทำประกันต่อเนื่องกับทางบริษัทประกันภัยรถยนต์ โดยทำติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ปกติจะมีการประนีประนอมในการร่วมรับผิดชอบความเสียหายระหว่างบริษัท และผู้เอาประกัน จะเป็นจำนวนเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสียหาย และประวัติการเคลมของผู้เอาประกันภัย
15. ทำไมต้องซื้อประกันภัยรถยนต์ออนไลน์กับ MoneyGuru.co.th?
MoneyGuru.co.th เป็นเว็บไซต์เปรียบเทียบประกันภัยรถยนต์ที่มุ่งเน้นการบริการที่โปร่งใส เป็นกลาง สะดวก และรวดเร็วมากที่สุดให้กับลูกค้า ซึ่งการซื้อประกันภัยรถยนต์จากเราจะต่างจากแบบดั้งเดิม คือ คุณไม่ต้องเสียเวลาในการหาข้อมูลของหลายๆ บริษัท เพราะเรารวมเอาทุกบริษัทที่น่าเชื่อถือ และมีข้อเสนอที่น่าสนใจมาไว้ที่นี่ที่เดียว
ทั้งนี้ ท่านสามารถเปรีบเทียบ และเลือกซื้อประกันรถยนต์ได้เพียงปลายนิ้วคลิก โดยเรามีผู้เชี่ยวชาญที่ท่านสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์ได้ บริการทุกอย่างของเราไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไปเปรียบเทียบประกันรถยนต์วันนี้ คลิกที่นี่ ได้เลยครับ!
